ไม่น่าเชื่อว่างานนี้จะมีอายุ 11 ปีแล้ว แต่เล่าทีไรก็สนุกสุขใจทุกที
………………..
งานนี้สินค้าคือ กล้วยตาก และจากการทำงานนี้ เราพบว่า คนไทยกินกล้วยตากกันเยอะมากอย่างไม่น่าเชื่อ และจังหวัดที่ทำกล้วยตากเยอะที่สุดก็คือพิษณุโลก พี่เจ้าของงานนี้ชื่อว่าพี่วุฒิชัย พี่เขาเป็นชายสไตล์ลูกทุ่งตรงไปตรงมาคุยสนุก ที่บ้านทำกล้วยตากกันมาตั้งแต่รุ่นยาย จนรุ่นแม่ จนมาถึงพี่แกนี่แหละ
ปกติเวลาเขาทำกล้วยตาก เขาก็จะเอาไปตากแดดตากลมอยู่กลางแจ้ง เสร็จพอมันแห้งมันก็เอามาทับให้มันแบนๆ ซึ่งมันมีปัญหาตรงเรื่องความสะอาด เพราะเวลาตาก ก็จะเจอทั้งฝุ่น ถ้าอยู่ริมถนนก็เจอควันรถอีก ทั้งแมลง ถ้ามาไข่ก็สร้างงานอีก หรือบางทีอากาศชื้น ฝนลง ขึ้นราเข้าไปอีก – เรียกว่าตากร้อย เอาไปขายได้สักครึ่งนึง ที่เหลืออีกครึ่งนึงต้องเอาไปทำเป็นอาหารสัตว์
ส่วนครึ่งที่ขายได้ ก็ไม่ได้ราคาดีอะไร กิโลละสิบยี่สิบบาทเท่านั้น วันหนึ่งพี่วุฒิชัยแกคิดว่าเสียดายของเหลือเกิน เลยเดินเข้าไปหาองค์การวิจัยในบ้านเรา ตั้งโจทย์ว่า ทำยังไงที่กล้วยตากจะไม่เหลือทิ้งขนาดนี้ นักวิจัยบ้านเราก็เก่งมาก คิดค้นทางแก้ปัญหาออกมาเป็น ผ่างงง!!! โดมพาราโบล่า เอาไว้ตากกล้วย แน๊ แล้วมันดียังไง…
คือโดมนี้นะคะ มันเป็นโดมโปร่งแสง ที่ดึงความร้อนจากแสงอาทิตย์มาใช้อบได้ดี แก้ปัญหาเรื่องแมลง ฝนตก ฝุ่นควัน แล้วด้วยความที่โดมนี้ถูกออกแบบโดยหลักการวิทยาศาสตร์ มันจึงสามารถทำให้กล้วยที่ตากในโดม แห้งเร็ว มีความชื้นพอเหมาะ ทำให้นุ่ม หนึบ ผิวสวยงาม และอร่อย ซึ่งพี่วุฒิชัยแกเป็นรายแรกที่ใจกล้าบ้าบิ่นลงทุนตากกล้วยในโดมแบบนี้
ได้ผลเช่นนั้น แกก็ดีใจมาก นอกจากนั้นนักวิจัยยังเสนอวิธีแก้ปัญหาเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่แก้ปัญหาการกินกล้วยตากของมนุษย์ เพราะเมื่อก่อนเรากินกล้วยตากทีไร มือจะเลอะ เพราะกล้วยมันเหนียวเยิ้ม เยิ้มไปหมดทั้งกล่อง กล่องก็ปิดเปิดลำบาก จึงมีการแก้ปัญหานี้โดยทำเป็น individual pack แยกเป็น 2 ชิ้นต่อหนึ่งซองเล็ก แล้วใส่ 10 ซองเล็กในกล่องอีกที
………………..
ความตั้งใจนั้นดี แต่ดีไซน์กล่องออกมาครั้งแรก (กล่องสีเหลืองที่เป็นหน้าการ์ตูนกล้วย – ทำโดยบริษัทอื่น) ทำให้ขายไม่ออก ขายสามกล่องร้อยยังขายไม่ได้ ทั้งที่ของข้างในพรีเมี่ยมเลี่ยมทอง แต่ข้างนอกยังดูเหมือนของไม่มีคุณภาพ เลยไม่มีคนสนใจ
วันที่เราได้เจอพี่เขา แกบอกเราว่าท้อแท้มาก กล้วยแสนดีแสนอร่อย แต่มันยังขายไม่ได้อีก กล่องที่พิมพ์มาก็กองเต็มโกดัง เงินทุนก็จม เหลือเงินก้อนสุดท้าย ที่ตั้งใจจะเอาไปซื้อเครื่องจักรบางอย่าง แกบอกว่าจะเอามาให้เราออกแบบให้ใหม่ ถ้าทำแล้วยังขายไม่ได้อีก แกจะเลิก! ไม่ทงไม่ทำมันแล้วกล้วยต่งกล้วยตากนี่! (เราตอบไปว่า สบายมากพี่ เดี๋ยวทุกอย่างจะเรียบร้อย)
เรารู้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน หนึ่งคือ เมื่อก่อนคนมองเห็นกล้วยได้ เพราะกล่องมันเป็นพลาสติกใสๆ พอเปลี่ยนเป็นกล่องกระดาษและซอง individual pack คนมองไม่เห็นว่ากล้วยหน้าตาดีไหม เชื่อถือได้หรือเปล่า แต่กลับเห็นหน้าตาแพ็คที่ไม่น่าเชื่อถือแทน อย่ากระนั้นเลย เราจึงจัดการออกแบบใหม่ วาง Design Direction ใหม่ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือของสินค้า
หลังจากนั้นไม่นาน กล้วย Banana Society ก็ขายดิบขายดี และก็ไม่ได้ขายที่ราคาสามกล่องร้อย แต่เป็นราคาที่สมกับคุณภาพสินค้าข้างใน ขายทุกห้างทั่วไทย ส่งออกไปไกลถึงต่างแดน จนกลายเป็นโมเดลระดับประเทศ มีชื่อว่า ‘บางกระทุ่มโมเดล’ เป็นต้นแบบของการพัฒนาสินค้าเกษตร โดยใช้โดมพาราโบลา
งานนี้เป็นงานแรกๆ เลย ที่เราได้ทำงานให้กับ SME หลังจากที่ทำงานให้กับบริษัทใหญ่ข้ามชาติมาโดยตลอด และเราก็พบว่าการทำงานดีไซน์ให้กับผู้ประกอบการโดยตรงนั้น มันสุดแสนจะเรียล เพราะนี่คือชีวิตคนจริงๆ ล้มจริงลุกจริง เราได้สัมผัสถึงความตั้งใจที่ยอดเยี่ยมของผู้ประกอบการไทย ที่จะผลิตสินค้าดีๆ เพื่อผู้บริโภค และพวกเราภูมิใจที่ได้ทำให้ความตั้งใจเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง มีผลลัพธ์จริง และให้ผู้ประกอบการไทยได้รู้ว่า… สินค้าไทย ไปได้ไกลกว่าที่คิด
ขอขอบคุณพี่วุฒิชัย พี่บุปผา ชะนะมา และ ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ bhundit innawong คุณหมู Kongwut Niruntasuk คุณโจ๊ก พิมพ์ภิดา วิชญพิมพ์จุฬา แห่ง Innovative House ที่เชื่อมั่นในงานดีไซน์ และไว้ใจในการทำงานของเราเสมอค่ะ <3
ปล บานาน่าโซไซตี้ หาซื้อได้ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป
………………..
Project: Banana Society
Client: Banana Society
Task: Branding / Brand Design Direction / Packaging Design / Website / Booth / Marketing Materials
Naming: ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ Innovative House
Designed by: Yindee Design
Launched: 2006
#แบรนดิ้งและดีไซน์สตูดิโอ #ยินดีดีไซน์
#YindeeDesign #BananaSociety
Yindee Design: Creative Branding + Design Solution